หน้าหนาวและพิธีวิวาห์กับอาหารรายการประจำ
ตอนที่ 1
ย่างเข้าเขตหน้าหนาว
ลมหนาวก็โชยพัดกระหน่ำ สายลมแผ่วมาในเวลาค่ำ
ทำให้หลายคนดำรงชีวิตอยู่คนเดียวไม่ได้แล้ว การ์ดสีชมพูปลิวกันให้ว่อนไปหมด ยิ่งกว่าใบปลิวโจมตีอเมริกากับตาลีบันเสียอีกค่ะ ยิ้มรื่นกันทั้งคนแจกคนรับไปเลยล่ะค่ะ คนแจกก็อาจจะยิ้มเพราะจะมีคนไปร่วมเป็นสักขีพยานรัก หรือจะมีซองแน่นๆ กลับมาสู่มือก็แล้วแต่ล่ะค่ะ ส่วนคนรับก็ยิ้มเช่นกันนะคะ
แต่อาจจะยิ้มแบบเครียดๆ สักหน่อย โดยเฉพาะหลายคนที่เลยวัยมะพร้าวห้าวไปแล้ว แต่ยังไม่มีวี่แววจะได้แจกนั้น บ่อยครั้งที่พอถึงวันงานก็ต้องไปหาขนตาปลอมมาใส่ เพราะว่าขนตาไหม้ไปหมดแล้ว ด้วยความอิจฉาตาร้อนเกินไปนั่นเองค่ะ แม่อบเชยก็เป็นหนึ่งในนั้นนะคะ
อะแฮ่ม
ไม่ใช่ผู้ที่แจกการ์ดหรอกค่ะ แต่ว่าเป็นหนึ่งในผู้รับการ์ดค่ะ
ส่วนปฏิกิริยาต่อการ์ดเป็นแบบใด เดากันเองก็ได้นะคะ เพราะว่าสัปดาห์เดียวได้มา
5 ใบเลยค่ะ
น่าปลื้มเสียจริงๆ
การแต่งงานนั้นเป็นเรื่องสวยงามค่ะ เริ่มจากความรักที่สวยงามระหว่างคนสองคน หรือหลายคนตามจำนวนญาติโกโหติกา ที่จะมาร่วมกันพินิจพิจารณาลงมติรับเขย หรือสะใภ้เข้าบ้าน และตามด้วยการขอแต่งงานที่สวยงามอีกเช่นกัน และการแห่ขันหมากที่สนุกสนานรื่นเริง เต็มไปด้วยเสียงเพลงและขบวนกลองยาว รวมทั้งหนุ่มๆ สาวๆ หรือแม้กระทั่งผู้เฒ่าผู้แก่ ก็จะแต่งองค์ทรงเครื่องสวยงามให้เราเห็นกันอีก และโดยเฉพาะเจ้าบ่าวเจ้าสาวที่บางคู่นั้น ในวันปกติหน้าตาธรรมด๊า ธรรมดา แต่พอถึงวันแต่งงาน ก็ได้รับการเนรมิตกันเสียเป็นเทพบุตรเป็นนางฟ้าไปเลยก็มีค่ะ ที่สำคัญนะคะ งานแต่งงานนี้ยังเป็นงานที่สร้างความอิ่มหมีพีมัน ให้ผู้ที่ไปร่วมงานด้วย ซึ่งนับเป็นความสวยงามอีกประการที่ไม่อาจจะละเว้นไม่กล่าวถึงไปได้เลยล่ะค่ะ
อาหารในงานวิวาห์นั้น แต่ละชาติแต่ละภาษา ก็จะมีความแตกต่างกันออกไป ทั้งในด้านการจัดวาง การเลือกสรรเพื่อให้สอดคล้องกับแนวความคิด และคตินิยมในการแต่งงานนะคะ วันนี้เราจะมาดูอาหารงานแต่งแบบไทยๆ
กันค่ะ คุณผู้อ่านที่เคยอยู่ใกล้ผู้เฒ่าผู้แก่ก็อาจจะเคยได้ยินคำว่า ไป "กินสามถ้วย" นะคะ คำนี้มาจากอาหาร 3 ชนิด ที่จะต้องมีในงานมงคลสมรสของคนไทยในสมัยก่อนค่ะ
เนื่องจากในสมัยก่อนนั้น
การเดินทางยังไม่สะดวก เมื่อมีใครจัดงานแต่งงานขึ้น คนที่มาร่วมงานที่อยู่ไกลหน่อย ก็จะต้องเดินทางกันลำบาก และเกิดความเหนื่อยล้า อาหารที่ตระเตียมสำหรับต้อนรับแขก ที่เพิ่งมาถึงงานก็จะต้องเป็นอาหารที่เรียกพลังงานคืนได้ดี โดยอาหารดังกล่าวก็จะต้องมีชื่อ และความหมายอันเป็นมงคล สอดคล้องกับงานแต่งงานด้วย ซึ่งได้แก่อาหารหวาน 3
รายการดังนี้ค่ะ
ข้าวเหนียวน้ำกะทิ ซึ่งมีความหมายว่า ให้คู่บ่าวสาวนั้นรักกันแน่นเหนียวเหมือนข้าวเหนียว และมีความหวานชื่นเหมือนน้ำกะทิ
ข้าวตอกน้ำกะทิ มีความหมายว่า ให้คู่บ่าวสาวนั้นมีความรักที่เบ่งบาน รุ่งเรืองเช่นเดียวกับสีอันขาวสวยของข้าวตอก มีความหวานชื่นเหมือนน้ำกะทิ เช่นเดียวกันนะคะ และในกรณีนี้แม่อบเชยมีความเห็นเพิ่มเติมว่า
อาจจะแฝงไว้ด้วยความหมายของข้าวตอก ที่เราใช้กันในงานพิธีไหว้ครูด้วยก็ได้นะคะว่า
ขอให้ความรักเบ่งบานสวยงาม ภายใต้กรอบประเพณีอันดีงาม เช่นเดียวกับที่ข้าวตอก ไม่เคยกระเด็นออกนอกที่ครอบ เวลาคั่วข้าวตอกกระนั้น
ลอดช่องน้ำกะทิ มีความหมายให้คู่บ่าวสาวนั้น มีความรักที่ยืนยาว และจะทำการใดก็ขอให้ตลอดปลอดโปร่ง ประสบความสำเร็จในชีวิตคู่
เพราะลอดช่องนั้นมีลักษณะที่รื่นไหลนั่นเองค่ะ ส่วนน้ำกะทิก็มีความหมายเดิมค่ะ
คือความหวานชื่นนั่นเองนะคะ
อ่านต่อตอนที่
2 ค่ะ
กลับไปหน้ารู้ไว้ใช่ว่า สาระน่ารู้
|