หน้าหนาวและพิธีวิวาห์กับอาหารรายการประจำ
ตอนที่ 2
หลังจากที่เราพูดถึงอาหารต้อนรับแขกเหรื่อที่เพิ่งมาถึงแล้ว
ตามวิสัยของชาวไทยฟู๊ดอย่างเรา ก็จะไปขุดแคะกันดูล่ะค่ะว่า มีอะไรบ้างที่เป็น "อาหาร ใน ขบวนขันหมาก" ค่ะ เพราะแม้ว่าขันนั้นจะชื่อว่าขันหมาก แต่ในความเป็นจริง "ขันหมากหมั้น" มีอะไรมากกว่า "หมาก" เยอะเลยค่ะ แต่หมากก็ต้องมีจริงๆ นะคะ
โดยใส่หมากเข้ามา 1 ลูก พลู 1 ใบ ทองคำทราย ทองคำใบและ ทองรูปพรรณค่ะ ขันหมากนั้นจะมีทั้งหมด 3 ขันค่ะ โดยมี 2 ขันเป็นขันหมาก
และอีก 1 ขันเป็น ขันสินสอด ค่ะ
ทีนี้มาดูขบวนขันหมากค่ะ
สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือ "เตียบอาหาร" ที่จะต้องมีอาหารหวานคาว อย่างน้อย 3 คู่ คือจะมากกว่านี้เท่าไหร่ไม่ว่า กันแต่น้อยกว่าไม่ได้ค่ะ ของที่จะต้องใส่เตียบได้แก่ หมากพลู
ขนมจีบ ไก่ต้ม หมูต้ม ขนมจีนน้ำยา สุรา และ ห่อหมก ค่ะ ซึ่งหากสังเกตให้ดี ก็จะเห็นว่าอาหารที่ใส่มานั้น มีความหมายเข้ามาแทรกแซงอีกแล้วนะคะ เช่น ห่อหมก ก็เพื่อให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวนั้น "เออออห่อหมก" กันไปทุกเรื่อง จะได้ไม่ต้องมีเรื่องขัดใจกันนั่นเองค่ะ
สำหรับขนมจีบก็เพื่อให้คู่ แต่งงานรักกันหวานชื่น เช่นช่วงที่จีบกันใหม่ๆ นั่นเอง
เพราะความรู้สึกของคนรักกัน ที่หวานชื่นที่สุดก็ช่วงที่จีบกันนั่นเองนี่คะ ดังนั้นแม้จะจะแต่งกันอยู่แล้วก็ยังมิวายต้องมีขนมจีบมาเตือนใจค่ะ
ส่วนขนมจีนนั้นเป็นของสำคัญในงานแต่งงาน ตั้งแต่สมัยเก่าก่อนแล้วค่ะ ขนมจีนที่นำมาใช้ในงานแต่งงานั้น ต้องโรยให้เส้นยาวที่สุด
ต่อเนื่องกันอย่างสม่ำเสมอ ดังนั้นเวลาจัดก็จะต้องจัดให้ลงตัวสวยงาม โดยไม่ต้องตัดให้ขาดค่ะ
ถ้าเด็กรุ่นใหม่ไปช่วยงานแต่งงาน แล้วอุตริไปตัดเส้นขนมจีน เพราะเห็นว่ายาวไปจัดไม่สวยงามละก็ มีหวังถูกตีมือหักแน่ๆ เลยค่ะเพราะว่าคนโบราณเข้าถือกันนัก
นอกจากนี้แล้วเครื่องเคียงของขนมจีนที่ประกอบไปด้วย "ถั่วงอก" ก็ให้ความหมายของความเจริญงอกงามค่ะ ซึ่งถั่วงอกนี้ไม่เพียงแค่ชื่อนะคะ ที่เกี่ยวข้องกับการเติบโตงอกงาม แต่ในทางวิชาการแล้ว ก็มีฮอร์โมนจิบเบอเรลลิน ที่เป็นฮอร์โมนกระตุ้นการเติบโตของต้นไม้ ที่คนเราก็จะได้รับด้วยเช่นกันหากบริโภคในปริมาณที่
พอดี ค่ะ
สำหรับขันหมากเอกค่ะ
สิ่งที่จะต้องมีก็คือ ข้าวสาร หมาก
พลูจีบ ที่จะต้องจัด
เป็นคู่ๆ 4 คู่บนพานแว่นฟ้า และตามด้วยตะลุ่มใส่ หมูต้ม
หมากพลู ห่อหมก ขนมจีบ อ้อย มะพร้าวอ่อน เหล้า ถั่ว และงา และขันหมากโทก็จะต้องมี พลู ผลไม้ที่มีชื่อเป็นมงคล และขนมทองเอก กง สามเกลอ
รังนก พะพาย ละมุด และปัจจุบันนี้นิยมใส่ ทองหยิบ ทองหยอดและฝอยทองเข้าไปด้วยค่ะ
อาหารต้องห้ามในงานแต่งงานที่สมัยโบราณนั้นจะไม่ยอมให้มีเลยได้แก่ แกงบวน ต้มยำ ยำผัก ปลาร้า ปลาเจ่า และชนิดอื่นๆ ที่ชื่อไม่เป็นมงคลนะคะ แม้ว่า อาหารที่ไล่ชื่อมา จะเป็นที่โปรดปรานแค่ไหนก็อย่าเสียดายเลยค่ะ เพราะใช่ว่าเขาจะแต่งงานกันทุกวันเสียที่ไหน วันอื่นๆ มีถมไป ที่เราจะได้กินอาหารจานโปรดใช่ไหมคะ
ทีนี้มาถึงขันเงินสินสอดค่ะ
จะต้องประดับด้วยดอกไม้มงคล ใบเงิน ใบทอง แก้ว รัก สวาด พุทธชาด บานไม่รู้โรย กุหลบมะลิ ถั่ว งา ข้าวเปลือก ข้าวโพด และแป้งกระแจะหอม ขันสินสอดที่จะใส่เงิน ใส่ทอง และเงินปลีกไว้ด้วย
เพื่อให้ผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาวอุทานว่า "เงินงอกได้!" เมื่อเห็นเงินปลีกอยู่ในขันสินสอดค่ะ และที่สำคัญ เวลานับเงินเสร็จแล้ว แม่เจ้าสาวที่จะนำเงินไปเก็บนั้นต้องทำท่าประหนึ่งว่า เงินนั้นหนักเสียเต็มประดาด้วยค่ะ เคล็ดเยอะมากค่ะ
ในพิธีแต่งงานไม่ว่าจะของชาติใดๆ
ก็ตาม จะต้องมีการป้อนอาหารกันค่ะ โรแมนติกเชียวล่ะนะคะ โดยที่ของไทยเรานั้นจะต้องป้อน "ไข่ขวัญ" ค่ะ ครึ่งหนึ่งนั้นเจ้าบ่าวป้อนเจ้าสาว และที่เหลืออีกครึ่งหนึ่ง เจ้าสาวก็จะต้องป้อนเจ้าบ่าว ในความหมายก็คือว่า เพื่อให้รับประทานอาหารร่วมกันตลอดไป
ไม่แอบหนีไปรับประทานอาหารนอกบ้านกับคนอื่นนั่นเอง และในทางมุสลิมนั้นบอกว่า
เพื่อให้คู่บ่าวสาวแบ่งปันสุขทุกข์แก่กันและกัน แม้มีไข่ต้มใบเดียวก็จะแบ่งกันรับประทาน มองในแง่เศรษฐศาสตร์กันทีเดียวค่ะ ซึ่งในสมัยใหม่นี้ก็อาจจะมีรูปแบบที่ต่างออกไปนะคะ เช่น ให้บ่าวสาวไขว้แขนป้อนเค้กงานแต่งงาน หรือไขว้แขนดื่มแชมเปญ
และสำหรับการแต่งแบบจีน ก็จะมีการนำ ด้ายแดงมาผูกข้อมือติดกันก่อนให้ดื่มชา ร่วมกันค่ะ ส่วนชาวเยอรมันนั้นจะให้คู่บ่าวสาวป้อนซุปซึ่งกันและกันจากถ้วยเดียวกันโดยช้อนคันเดียวกันค่ะ แต่ทั้งนี้ต้องหลังจากคืนแรกของการแต่งงานเสียก่อนนะคะ แม่อบเชยเองก็มีเพื่อนเมืองเบียร์หลายคนเหมือนกันค่ะ แต่ไม่มีใครให้คำตอบได้ว่า ทำไมต้องรอให้ถึงเช้าก่อน หรือหากป้อนคืนนั้นมือจะสั่นจนซุปหก
เนื่องจากเมาเบียร์กันทั้งคู่หรืออย่างไรก็ไม่อาจทราบได้ค่ะ
กลับไปหน้ารู้ไว้ใช่ว่า สาระน่ารู้
|