จีเอ็มโอ...โกลด์ซีรีส์ จนวันนี้กับความไม่รู้ของผู้บริโภค
(ตอน 1)
อย่าเพิ่งหาว่าแม่สาลิกา เชยสมชื่อเลยนะคะที่เพิ่งจะมาพูดถึง
GMOs กับชาวบ้านเขา ในขณะที่คนอื่นเขาพูดกันไปตั้งแต่ปีที่แล้ว
ไม่ใช่อะไรหรอกค่ะ เรื่องมันก็คือว่า แม่สาลิกาเองก็มิได้นิ่งนอนใจ ที่จะเสนอข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับปากท้อง และสุขภาพของคุณผู้อ่านหรอกค่ะ แต่เผอิญว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ของมนุษยชาติเชียวค่ะ เลยไม่กล้าเสนอสุมสี่สุ่มห้าค่ะ อยากจะรอจนผลการวิจัยเขาออกมาแน่นอนเสียก่อน ว่าดีร้ายอย่างไร จึงจะบอกกล่าวเล่าแจ้งให้คุณผู้อ่านได้เข้าใจอย่างถ่องแท้ค่ะ
แต่ทีนี้พอลองนับนิ้วดู
จากวันที่เขาเริ่มมีการพูดถึงจีเอ็มโอ กันอย่างหนาหู มาจนวันนี้ก็นานนมเต็มทีแล้วนะคะ จนหานิ้วมานับเพิ่มมิไหวแล้ว
แม่สาลิกาก็เลยคิดว่าหากจะรอจนกว่าผลการวิจัยขั้นสุดท้ายออกมา คงได้ไปยืมนิ้วชาวบ้านจากคอองคุลีมาลมานับด้วยเป็นแน่แท้ แถมอาจจะต้องหงำเหงือกมาจิ้มคีย์บอร์ดเขียนอย่างไม่ต้องสงสัย อย่ากระนั้นเลย เขาว่ามาอย่างไร ก็เล่าแจ้งแถลงไขกันไปอย่างนั้นจะดีกว่า ก่อนที่มันจะกลายเป็น Gold Series ค่ะ (หมายถึงว่า
ยาวเหยียดนับร้อยเพลง เอ๊ย! นับร้อยตอนค่ะ) ขณะอ่านก็โปรดใช้ดุลยพินิจให้ดีนะคะ
หากอ่านพร้อมบุตรหลาน ก็อย่าลืมอธิบายขยายความเพิ่มเติมให้เสียด้วยค่ะ
หากบุตรหลานไม่เข้าใจ อย่าไปดุด่าว่ากล่าวนะคะ เพราะว่าคนเรามีเพียง
"รู้กับไม่รู้" เท่านั้นค่ะ (คุ้นๆ ไหมคะ สำหรับสโลแกน) ส่วนคนที่เป็นโรคหัวใจ โปรดอ่านในความดูแลของแพทย์
นั่นก็เกินไปค่ะ
อาหารจีเอ็มโอ จะว่ามันธรรมดาก็ธรรมดาเพราะเราบริโภคกันมา โดยไม่รู้เนื้อรู้ตัวก็คงไม่น้อยแล้ว แต่หากจะมองให้เป็นเรื่องใหญ่ก็ไม่ผิดอีกค่ะ เพราะว่าอะไรที่มันผิดธรรมชาติไปมากๆ นั้นมันก็ไม่สมควรแก่การบริโภคอยู่แล้วนั่นเอง
GMOs
เป็นคำย่อค่ะ ซึ่งคำเต็มๆ ก็คือว่า Genetically Modified Organism ค่ะ หมายถึง สิ่งมีชีวิตที่ได้รับการปรับแต่งยีน หรือหน่วยพันธุกรรม ด้วยวิธีทางพันธุวิศวกรรม ซึ่งทั้งนี้และทั้งนั้น พืชหรือสัตว์หรือสิ่งมีชีวิตอื่นใดก็ตามที่ถูกนำมาตัดต่อ ปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมมันเสียใหม่นั้น
ก็เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการอุปโภคบริโภคของมนุษย์เกือบทั้งนั้นเลยค่ะ
เช่น แตงโมปกติมีเมล็ด หากไม่อยากให้มีเมล็ดก็นำพันธุ์แตงโมมาฉายรังสีเสีย
ให้รังสีเข้าไป ทำการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมน ที่จะกระตุ้นให้เมล็ดแตงโมเติบโต ให้ไม่สามารถแสดงผลออกมาได้ แตงโมก็จะปราศจากเมล็ด เป็นที่เอร็ดอร่อยและชื่นชอบของนักกินที่ขี้เกียจ กระทั่งจะคัดของเข้าปากเป็นอย่างยิ่งค่ะ
ความจริงคนพวกนี้น่าจะมาเรียนรู้วิธีกินแตงโม แบบไม่ต้องแกะเมล็ดจากนางสาวเป้า เพื่อนแม่สาลิกานะคะ
เพราะเธอกินได้เป็นสวนๆ เลยค่ะ โดยที่ไม่มีเมล็ดตกหล่นให้เห็นอย่างสบายๆ
แต่คิดอีกที หากมีคนกินแตงโม แบบไม่เหลือเมล็ดมากขึ้น ภาวะเม็ดก๊วยจี๋ขาดตลาดต้องเกิดขึ้นแน่นอนเลยค่ะ ก็ผู้บริโภคเล่นกินเข้าไปหมด ไม่มีเหลือหลออย่างนี้จะมีที่ไหนมาคั่วขายใช่ไหมเล่าค่ะ คงไม่มีอะไรให้ขบเคี้ยวเพลินๆ ปาก
อย่ากระนั้นเลย เพื่อนนักบริโภคแตงโมทั้งหลาย จงอยู่ห่างนางสาวเป้าไว้
เพราะจะเป็นผลดีต่อตลาดเม็ดก๊วยจี๋ค่ะ
ความจริง
พืชชนิดแรกที่ได้รับการตัดแต่งพันธุกรรมไม่ใช่ แตงโม หรอกนะคะ แต่ว่าเป็น มะเขือเทศ ค่ะ มะเขือเทศสำหรับทำซอสมะเขือเทศนั่นเอง ซึ่งก็ไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควรเพราะว่า ต้นทุนสูงมาก
แต่รสชาติ ก็ไม่แตกต่างจากมะเขือเทศธรรมดา ต่อมา GMOs ก็ไม่ได้วุ่นวายอยู่เพียงกับผลหมากรากไม้เท่านั้นนะสิคะ เริ่มขยายผลลุกลามมาตามสิงสาราสัตว์ ที่เรารับประทานกันเพื่อเพิ่มโปรตีน ให้กับร่างกายมาบ้างแล้ว แถมในนมที่ใช้ชงให้เด็กทารกดื่ม เพื่อการเจริญเติบโตของร่างกายนั้น ก็พลอยฟ้าพลอยฝนไปด้วย ไม่มีใครบอกได้ว่ารังสีที่ใช้ในการตัดแต่งพันธุกรรมนั้น จะตกค้างมาถึงผู้บริโภคหรือเปล่า
นักอนุรักษ์ทั้งหลายจึงเริ่มบทบาทช้างกระทืบโรงกันขึ้นมา ต่อต้านจีเอ็มโอค่ะ ชนิดเอาเป็นเอาตาย
ก่อนที่จะมีทารกคนใดเกิดอาการแฟรงเกนส์ไสตน์ค่ะ
ทำไมเราจึงควรหวาดหวั่นว่า
ผู้ที่บริโภคอาหารจีเอ็มโอ จะกลายเป็นแฟรงเกนสไตน์ ก็เนื่องจากว่า มีผลการวิจัยจากนักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษคนหนึ่งค่ะบอกว่า หนูทดลองที่ได้รับการเลี้ยงดูโดยป้อนมันฝรั่งที่ตัดต่อยีน
เกิดอาการผิดปกติที่อวัยวะภายในร่างกาย ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของหนูได้
เมื่อหนูอันตรายได้ คนก็คงแตกต่างกันหรอกค่ะ
คงพอจะคาดการณ์กันได้ใช่ไหมคะว่า
ประเทศแรกที่ทำวิจัยเรื่องนี้สำเร็จคือ สหรัฐอเมริกา แถมเริ่มแผลงฤทธิ์ต่อชาวบ้านเขา เพื่อที่ว่าหนึ่งจะได้เป็นผู้กู้สถานการณ์ให้ชาวบ้านเขา และตำแหน่งพระเอกก็จะได้ตกแก่อเมริกาอีกครั้ง ด้วยการแปลงพันธุ์พืชหลายชนิด แล้วจดลิขสิทธิ์เป็นสมบัติของตัวเองทั้งๆ
ที่ไม่มีพืชบางชนิดนั้น ไม่เคยปรากฏอยู่ในดินแดนอเมริกาเลย นับมาตั้งแต่สมัยอินเดียนแดงยังไม่ย้ายเข้าไปตั้งรกรากแน่ะค่ะ ที่สำคัญ เมื่อไม่กี่ปีมานี้ข้าวหอมมะลิของไทย ก็เกือบถูกฮุบเอาไปเป็นของอเมริกา จนต้องมีการประท้วงกัน
ข้าวเราจึงยังคงเป็นข้าวเราอยู่จนวันนี้ค่ะ
กลับไปหน้ารู้ไว้ใช่ว่า สาระน่ารู้
|