รู้ไว้ใช่ว่า สาระน่ารู้ : บทความเกี่ยวกับอาหารไทย

 


 


 
 

"หูฉลาม โซดาไฟ เยาวราชและสารปรอท"

ช่วงนี้ข่าวเรื่องหูฉลามกำลังมาแรงนะคะ คุณผู้อ่านกระเป๋าหนักทั้งหลายของแม่สาลิกา หลายท่านอาจจะรู้สึกว่า ฝรั่งมังค่ามาทำตัวเป็นมารคอหอยอีกแล้ว เพราะกำลังเอร็ดอร่อยกับซุปหูฉลามชามโต อยู่ดีๆ ก็มีคนมาบอกว่ามีสารพิษผสมอยู่ตั้งหลายอย่าง ทั้งสารปรอทที่สะสมอยู่ตั้ง 42 เปอร์เซ็นต์ และมีโซดาไฟที่คนขาย เพิ่มเข้าไปเพื่อให้มีปริมาณมากขึ้น เล่นเอาตกอกตกใจกันไปหมดทั้งบาง
ทำไมหูฉลามจึงเป็นที่นิยม ก็เพราะปลาฉลามนั้นได้ชื่อว่าเป็นเจ้าสมุทร มีความแข็งแรงและรวดเร็วเป็นเลิศ จึงเป็นที่เชื่อกันว่า หากเราได้รับประทานปลาฉลาม ส่วนใดส่วนหนึ่งก็จะทำให้แข็งแรง มีกำลังวังชาประหนึ่งปลาฉลาม โดยเฉพาะหนุ่มน้อยแต่แก่มากทั้งหลาย ที่เกรงว่าจะเตะปี๊บไม่ดังนั้น ยิ่งขวนขวายหากันมาบำรุง เพื่อให้กลายเป็นหนุ่มวันคะนองกันอยู่บ่อยๆ หลายครั้งที่เลยเถิดจากหูฉลาม ไปเป็นอุ้งตีนหมี ดีงู และอะไรอื่นอีกที่พิลึกพิเรนทร์กันจนนึกไม่ถึงก็มีค่ะ
"หูฉลาม" ความจริงไม่ใช่หูของฉลามหรอกนะคะ เป็นครีบของฉลามค่ะ อาจจะเป็น ครีบหลัง ครีบก้น ครีบหู ครีบหาง ครีบด้านบน ซึ่งเป็นไฟเบอร์ โปรตีนชนิดหนึ่ง ที่ร้อยถักทอจนเป็นกระดูกอ่อน แต่พอเอามาทำให้เป็นอาหารประเภทนี้ ก็เรียก "หู" กันทั้งนั้นค่ะ แต่ในภาษาอังกฤษเขาก็เรียกตรงตัวนะคะ ว่า Shark fin เคยมีเพื่อนแม่สาลิกาแปลให้ลูกทัวร์ฟังว่า Shark ear ฝรั่งงงเต๊กว่าหูปลาฉลามอยู่ตรงไหน เพราะสัตว์ประเภทนี้ใช้ Lateral line ที่เป็นเส้นข้างลำตัวในการรับรู้คลื่นเสียง ไม่มีหูค่ะ
เมื่อพูดถึงหูฉลาม ก็ต้องนึกถึงราคาของหูฉลามทันทีเลยค่ะ หูฉลามแห้งยังไม่ปรุง เป็นเมนูราคาก็ตกประมาณ 3,000-60,000 บาท/กิโลกรัมค่ะ ขึ้นอยู่กับว่าขนาดเล็กหรือใหญ่ เป็นครีบของฉลามขาว ฉลามดำ หรือฉลามน้ำเงิน และถ้าเป็นครีบ หรือหูฉลามวาฬ ที่มีความยาวถึงเมตรละก็ว่ากันว่าขายกันครีบละเป็นแสน ส่วนหูฉลามที่ปรุงแล้วไม่ว่าจะแบบไหน ราคาจะตกถ้วยละประมาณ 500-2,000 กว่าบาท ช่างเป็นอาหารที่แพงเสียนี่กระไร
เมื่อราคาไต่อยู่สูงขนาดนั้น ก็คงสงสัยกันแล้วใช่ไหมคะว่า มีคุณค่าทางอาหารสูง อย่างที่เข้าใจกันหรือเปล่า ความจริงแล้ว คุณค่าทางอาหารจากหูปลาฉลามมีค่ะ แต่ว่าไม่มาก อย่างที่เราพูดกันไปแล้วนะคะว่า ไฟเบอร์ โปรตีนที่ประกอบเป็น "หู" ปลาฉลามนั้น เป็นโปรตีนที่ให้คุณค่าทางโภชนาการต่ำมาก หรือจะเรียกว่าแทบไม่มีประโยชน์เลยก็ได้ นอกจากนี้ อาจจะมีธาตุแคลเซียม แมกนีเซียม ไขมัน อีกอย่างละเล็กน้อยเท่านั้นเอง เมื่อเทียบกับสนนราคาที่ลิบลิ่ว รวมทั้งวิธีการล่า
"หู" ที่ดูจะทารุณ โหดร้ายไปหน่อยนั้น แม่สาลิกาว่า ไม่คุ้มกันเลยค่ะ
สารปรอทมาผสมอยู่ในหูฉลามได้อย่างไร ก็เพราะว่าปลาฉลามนั้นอาศัยอยู่ในน้ำลึก อาจจะกินปลาเล็กปลาน้อย ที่มีปรอทสะสมอยู่เข้าไปมาก จึงเกิดการสะสมขึ้นมา และสารปรอทนั้นเมื่อซึมเข้ากระแสเลือด จะทำลายระบบประสาท เม็ดเลือด กระดูก ไขมัน ค่ะ แต่ว่าอาจจะน้อยกว่าโซดาไฟที่นำมาใช้แช่หูฉลามมากกว่า เพราะหูฉลามนั้นจะแข็งมาก จะนำมากินต้องต้มต้องตุ๋นใช้เวลากันเป็นวันๆ กว่าจะนิ่ม ดังนั้นภัตตาคารบางแห่งจึงเอาโซดาไฟ มาแช่หูฉลามให้นิ่มทันใจลูกค้า ซึ่งตรงนี้แหละค่ะ จุดอันตรายของแท้ ขนาดไฟเบอร์ปลาฉลามยังนิ่มได้ แล้วเซลล์ร่างกายเรามันจะไปเหลือหรือ ส่วนสารปรอทนั้นผู้เชี่ยวชาญออกมาให้ข้อมูลแล้วค่ะว่า ถ้าคนจะตายเพราะพิษสารปรอท จากการกินหูฉลามละก็ ต้องฟาดเข้าไปทีเดียว 500 กิโลกรัม หรือประมาณ 5,000 ถ้วย ต้องใช้เงินเป็นล้านๆ มีหวังหมดตัวก่อนจะตาย!
นอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบการที่เห็นแก่ตัวเกินไป ต้องการที่จะทำให้หูฉลามอันเล็กๆ ขยายขนาดขึ้นเพื่อที่จะขายได้ปริมาณมากขึ้น ผสมสารเคมีบางอย่างลงไป เพื่อให้เซลล์ของหูฉลามพองตัว และดูเหมือนมีปริมาณมาก โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงสุขภาพของผู้บริโภคกันเสียเลย แม่สาลิกายิ่งเห็นว่า หูฉลามราคาแพงลิบนั้น จะทำให้สุขภาพเสื่อมลงเสียมากกว่าแข็งแรงนะคะ แม้ว่าขณะนี้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องยังวิเคราะห์ไม่ได้ค่ะ ว่าเป็นสารประเภทใดกันแน่ก็ตาม ความจริงนะคะ แค่สารปรอท และโซดาไฟยังไม่เท่าไหร่หรอกค่ะ คนไทยเราน่ะ ภูมิต้านทานสูง แต่ "สารสตางค์" ที่ต้องใช้ปริมาณมากนี่สิคะ ทำให้แม่สาลิกาได้คำพังเพยใหม่ค่ะ
"ห่างลิง ให้ห่างศอก ห่างวอกให้ห่างวา ห่างหูฉลามนั่นหนา ให้ห่างร้อยโยชน์พันโยชน์"

กลับไปหน้ารู้ไว้ใช่ว่า สาระน่ารู้

 

 

 

เรื่องดีๆ ที่อยากให้อ่านด้วย


 

เมนูอาหารไทยแนะนำ
 
 


Copyright © 2013 Thaifood DB dot com. All rights reserved.
For more information please contact webcookie