รู้ไว้ใช่ว่า สาระน่ารู้ : บทความเกี่ยวกับอาหารไทย

 


 


 
 

ชื่ออาหารไทยในความตะลึง…ตึง…ตึง…ของฝรั่ง

ใต้เงาเทียนอันสลัวของร้านเล็กๆ ริมถนนย่านบางลำพู สี่สาวไทยกับหนึ่งหนุ่มฝรั่ง นั่งรออาหารที่สั่ง พรางวิพากษ์วิจารณ์ถึงชื่อของอาหารกันอย่างออกรส โดยเฉพาะหนุ่มฝรั่ง ที่ต้องมานั่งฟังการแปลชื่อของอาหารนั้น ทั้งขำทั้งทึ่ง เพราะแถวบ้านเขานั้นไม่มีการตั้งชื่ออะไร ให้มีนัยยะของที่มาที่ไปอะไรขนาดนี้ แม่สาลิการู้สึกปลื้มในความคิดอันแยบยล ของบรรพบุรุษเสียจริง ที่ท่านมีเวลามานั่งประดิษฐ์ คิดชื่อของอาหารให้ลูกหลาน ได้มานั่งถกกันเล่นเป็นที่เพลิดเพลินเรียกน้ำย่อย ก่อนจะถึงเวลาลงมือจริง
เราเริ่มกันที่ “ข้าวผัดสิบสามห้าง” ซึ่งพอดีมาก่อนจานอื่นค่ะ ทันทีที่ได้ยินชื่อว่า “Fried Rice of 13 Department Stores” เพื่อนแม่สาลิกาก็เขี่ยข้าวเสียจนทั่วจานเลยค่ะ เพื่อดูว่ามีห้างอะไรบ้างอยู่ในข้าวผัดของเขา แต่ก็ไม่เจอสักห้างไม่ว่าจะเป็น ดิ เอ็มโพเรียม เซ็นทรัลพลาซ่า หรือว่า พารากอน กระทั่งเดอะมอลล์สาขาใดๆ ก็ตาม เลยสงสัยกันว่าแล้วมันมีห้างอะไรล่ะอยู่ในข้าวผัด? ความจริงนั้น สมัยก่อนนี้เราจะมีการเรียกชื่ออาหารจานเด็ด ของแต่ละย่านโดยเรียกชื่อสถานที่ พ่วงเข้าไปกับชื่อของอาหาร เช่น เดี๋ยวนี้เราก็มี ข้าวขาหมูตรอกซุง มีข้าวมันไก่ประตูน้ำ หมูย่างเมืองตรังนะคะ แต่ว่าจะไม่มีใครสงสัย เพราะสถานที่ที่พูดถึงนั้น ยังร่วมสมัยกับเราอยู่ แต่ถนนสิบสามห้างนั้น เป็นย่านทันสมัยของคนสมัยก่อน ซึ่งคนรุ่นนี้มีไม่กี่คนที่รู้ ว่าเคยเป็นแหล่ง ช้อปปิ้งของคนทันสมัย และมีร้านขายข้าวผัด เลื่องชื่อจนเรียกกันว่า ข้าวผัดสิบสามห้าง จนตอนหลังก็กลายพันธุ์ มาเป็นข้าวผัดสูตรสิบสามห้าง ที่ไปขายที่ไหนก็ใช้สูตรเดียวกันจนได้ชื่อว่า ข้าวผัดสิบสามห้างเรื่อยมานั่นเองค่ะ
จากนั้นก็มาว่ากันที่ “ก๋วยเตี๋ยวเรือโกฮับ” ค่ะ ไม่รู้เจ้าไหนเป็นเจ้าแรก เพราะเห็นโกฮับเจ้าเก่าเต็มไปหมด แถมยังมีลูกโกฮับ หลานโกฮับ เหลนโกฮับ เพื่อนโกฮับ ญาติโกฮับกันไปทั้งเมืองเลยค่ะ และเดี๋ยวนี้ก้าวหน้าไปอยู่ในซอง”มาม่า” บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเรียบร้อยแล้ว แม่สาลิกาก็ไม่แน่ใจนะคะ ว่าเป็นสูตรของญาติฝ่ายไหนของโกฮับ ยังไม่ได้ตามไปจับประเด็นข่าวกันเลยค่ะ รู้แต่ว่าต่อให้ ”ก๋วยเตี๋ยวเรือไตตานิค” มาขายแข่งก็ยากที่จะเอาชนะใจคนไทย ที่รักรสชาติอันเข้มข้นของก๋วยเตี๋ยวเรือโกฮับได้
ไม่นาน ”ข้าวผัดน้ำพริกลงเรือ” ก็เดินทางมาถึงชื่อน้ำพริกชนิดนี้ เล่นเอาอึ้งไปหลายนาที กว่าจะคลี่คลายสถานการณ์ได้ค่ะเพราะเมื่อแปลไปแล้ว ได้ความว่า Namprink of Embarkation อันตัวน้ำพริกนั้นไม่ต้องสาธยายกันแล้ว เพราะรู้จักพอสมควร แต่ทำไมมันจะต้องลงเรือนี่สิ กลายเป็นประเด็นกันขึ้นมา ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ท่านอธิบายเอาไว้ว่า เพราะในสมัยก่อนเวลานั้น เวลาจะเดินทางไปไหนมาไหน ก็ต้องไปด้วยเรือ แถมเรือที่ว่าก็ใช่จะเร็วปรู๊ดปร๊าด เป็นเรือยอร์ชเสียที่ไหน เร็วไปตามกำลังฝีพายเท่านั้น ผู้เดินทางก็จึงต้องเตรียมข้าวปลาอาหาร ไปรับประทานระหว่างการเดินทางด้วย น้ำพริกสะดวกในการจัดลงเรือนั้น ก็คือน้ำพริกชนิดนี้ เพราะข้นมาก ไม่หกเลอะเทอะ ตอนแรกๆ ก็ยังไม่มีชื่อหรอกค่ะ แต่ไปๆ มาๆ ก็ได้ชื่อว่า ”น้ำพริกลงเรือ” เพราะนิยมนำไปเป็นเสบียง สำหรับการเดินทางด้วยเรือนั่นเองค่ะ
อีกจานค่ะ เป็น ”น้ำพริกหนุ่ม” ที่คู่กันมากับแคบหมู เมื่อต้องแปลว่า Namprik of a Young Man ก็ยิ่งงงกันเข้าไปใหญ่ ทำไมต้อง “Young Man” ชายแก่ห้ามกินหรืออย่างไร แล้วสาวๆ จะกินได้ไหม หรือได้เฉพาะหนุ่มๆ ? ความจริงนั้น “น้ำพริกหนุ่ม” เป็นคำเรียกชื่อตามส่วนประกอบที่เป็น ”พริกหนุ่ม” หรือพริกที่ยังอ่อนๆ อยู่ของคนเมืองเหนือ ซึ่งจะเรียกอะไรก็ตามที่ยังอ่อนอยู่ว่า ”หนุ่ม” ทั้งนั้นค่ะ
ที่นี้มาถึง “ผัดเป็ดกระแดะ” ค่ะ อุแม่เจ้า! แม่สาลิกาก็งงเหมือนกัน เพราะดูหน้าตาของเป็ด ที่ผัดมานั้นก็เห็นเรียบร้อยดี ไม่มีจริตจะก้านอะไรมากจนเกินงามไป พอที่จะให้นิยามว่า “กระแดะ” เสียหน่อย เลยถามพนักงานเสิร์ฟ ก็ยังไม่ได้ความ เพราะเขาเองก็บอกได้แค่ว่า มันประกอบไปด้วยเป็ดกับซ้อส และผักสองสามอย่างเท่านั้นเองค่ะ แต่หลังจากตักเข้าปากไปสองสามคำ ก็พอจะนึกออกค่ะ ว่าทำไมได้ชื่อนี้ ซึ่งก็เพราะว่าเพื่อนที่แสนจะเรียบร้อย ของแม่สาลิกานางหนึ่งอุทานว่า “อ๊าาา… อร่อยจัง…ตัวเอ๊ง” นะสิคะ
ไปลงเอยที่ “ผัดผัวเบื่อ” ซึ่งหมายถึงผัดหอยลายใบกะเพรา และเมื่อมาถึงชื่อนี้ แม่สาลิกาผู้เป็นกุลสตรีทุกกระเบียดนิ้ว เลยจำต้องบอกศาลาการอธิบายถึงที่มาที่ไปของอาหารจานนี้ค่ะ เพราะจนด้วยเกล้าที่จะแปลให้ไม่ขายหน้าห้าบาทหกสลึงจริงๆ และจนเดี๋ยวนี้ เพื่อนฝรั่งของแม่สาลิกาก็ยังไม่รู้ว่าทำไม Fried shell with sweet basil จึงได้ชื่อว่า Fired of husband‘s boresome เฮ่อ…บรรพบุรุษน่ะบรรพบุรุษ แม่สาลิกาจะสรรเสริญท่าน ในเรื่องการตั้งชื่ออาหารต่อไปอีกดีไหมคะนี่…
.

กลับไปหน้ารู้ไว้ใช่ว่า สาระน่ารู้

 

 

 

เรื่องดีๆ ที่อยากให้อ่านด้วย


:: รายชื่ออาหาร ไทยแปลเป็นอังกฤษ
 

เมนูอาหารไทยแนะนำ
 
 


Copyright © 2013 Thaifood DB dot com. All rights reserved.
For more information please contact webcookie