รู้ไว้ใช่ว่า สาระน่ารู้ : บทความเกี่ยวกับอาหารไทย

 


 


 
 

ตำน้ำพริกละลายน้ำย่อย

“นอกจากน้ำพริกจะเป็นกับข้าวพื้นฐานของไทยแล้ว น้ำพริกก็ยังเป็นศูนย์กลางของสำรับซึ่งมีกับข้าวหลายอย่าง… น้ำพริกจะต้องตั้งอยู่ตรงกลางและกับข้าวอื่นๆ ที่จะมาแวดล้อม ประกอบเป็นสำรับนั้น ในการทำจะต้องคำนึงถึงน้ำพริกก่อนว่าเป็นน้ำพริกอะไร…”
“น้ำพริกนั้น นอกจากจะเป็นกับข้าวของไทยแล้ว ยังเป็นวัฒนธรรมไทยอย่างหนึ่ง คนไทย ต้องรู้จักน้ำพริก ต้องรับประทานน้ำพริกให้เป็น หมายความว่าจะต้องรู้วิธีว่า จะเอาอะไรจิ้มกับน้ำพริก แซมด้วยปลาย่าง หรือปลาทอด… เหล่านี้เป็นวัฒนธรรมไทย ซึ่งมีมาแต่โบร่ำโบราณทั้งสิ้น” (ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช)
เชื่อว่า พวกเราคนไทยคงไม่มีใครไม่รู้จัก ม. ร. ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช กันนะคะ ท่านเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงแทบจะทุกด้านในสังคมบ้านเรา ไม่ว่าจะในฐานะนักการเมือง นักแสดง นักเขียน หรือสื่อมวลชน ท่านก็โดดเด่นมาแล้วทั้งนั้น และสำหรับเรื่องสำรับกับข้าว ท่านก็ยังเป็นผู้ที่ได้ชื่อว่า เป็นเอกในวงการอีกด้วยนะคะ ใครที้เกิดทันอ่านสยามรัฐสมัยก่อน คงได้เห็นคอลัมน์ซอยสวนพลู ที่ท่านเขียนเรื่องอาหารให้อ่านกันนะคะ สนุกราวกับว่าไม่ใช่คอลัมน์ทำกับข้าวเลยเชียวค่ะ
น้ำพริก เป็นอาหารที่เราคุ้นเคยกันดีมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว มีหลากหลายจนแม่สาลิกาเหนื่อยแทบขาดใจ เวลาอธิบายเรื่องน้ำพริกให้ฝรั่งฟัง อย่าว่าแต่ฝรั่งมังค่าเลยค่ะ เพราะขนาดเพื่อนคนไทยกันเอง ในปัจจุบันนี้ก็ยังรู้จักอยู่เพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้นเอง และที่สำคัญก็ยิ่งรู้กันน้อยลงไปว่า น้ำพริกแต่ละอย่างน่ะ มีที่มาหรือที่ไปอย่างไร มีอะไรเป็นส่วนประกอบ และรับประทานกันอย่างไร ควรจะเป็นผักชนิดไหน และทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เชื่อเถอะค่ะว่า หาคำตอบกันยากกว่าเล่นเกมเศรษฐี อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะน้ำพริกบ้านเรานั้น มีหลายชนิดจนบางคนบอกว่า กินไม่ซ้ำรายการตลอดชีวิตยังไม่หมดเลยค่ะ ดูเหมือนประโยคนี้จะกล่าวเกินจริงไปสักหน่อย แต่ลองฟังนิทานเรื่องนี้สิคะ แล้วจะเชื่อว่า ประโยคข้างต้นไม่เกินจริงค่ะ
พระราชาพระองค์หนึ่ง เกิดจะเลียนแบบพระเจ้ากาหลิบ แห่งนิทานพันหนึ่งราตรี ของอาหรับขึ้นมาเลย ประกาศว่า แต่ละคืนให้หาสนมมาเข้าเฝ้าหนึ่งนาง และรุ่งขึ้นให้ประหารเสีย แต่มีสนมนางหนึ่งที่แสนจะฉลาดเหลือหลาย รู้ว่าผู้ชายนั้นความรักเดินทาง ผ่านปากสู่กระเพาะ เลยเล่าเรื่องการทำน้ำพริกถวายในคืนแรก และด้วยลีลาของนักเล่านิทานชั้นเยี่ยม ทำให้พระราชาเกิดอยากจะเสวยน้ำพริกชนิดนั้นขึ้นมา เลยปล่อยให้สนมนางมีชีวิตต่ออีกหนึ่งวัน เพื่อทำน้ำพริกถวาย และคืนต่อมาก็เป็นเช่นนี้ทุกคืนๆ สนมนางนั้นก็มีชีวิตรอดเรื่อยมา ในนิทานเล่าว่า สนมนางนั้นไปแก่ตายเอาตอนเล่าถึงน้ำพริกเครื่องหลน นั่นหมายความว่าขนาดเล่าเรื่องน้ำพริก ตั้งแต่สาวจนแก่ตาย รายการน้ำพริกก็ยังไม่หมดสต็อกเลยด้วยซ้ำ "แซบอีหลีเด้อค่า…"
เมื่อนานมาแล้ว ก่อนละครหลังข่าวเรื่องพันท้ายนรสิงห์ จะออกอากาศนั้น เพื่อนของแม่สาลิกา ซึ่งเป็นครูประถมในโครงการนำร่อง ประเภทเรียนโดยไม่ต้องท่อง มาเล่าเรื่องชวนอมยิ้มให้ฟังค่ะ เธอถามนักเรียนว่า “นักเรียนคะ มีใครรู้จักพันท้ายนรสิงห์ ไหมคะ” เด็กตัวเท่าเมี่ยงคนหนึ่ง ยกมือขึ้นขอตอบด้วยความมั่นใจเต็มร้อยว่า “รู้จักครับ บ้านผมก็มี“ ครูถึงกับอึ้งกิมกี่ และต้องขอให้นักเรียนอธิบายว่าเพราะอะไร “พันท้ายนรสิงห์ วีรบุรุษแห่งความซื่อตรง” จึงได้ไปอยู่ที่บ้านนักเรียนได้ นักเรียนจึงได้ไขข้อข้องใจให้ครูว่า “มีจริงๆ นะครับ ตอนเช้าๆ คุณยาย ยังเอาทาขนมปังรับประทานเลย แต่ผมไม่ค่อยชอบครับ กลิ่นแปลกๆ” กว่าครูจะถึงบางอ้อว่านักเรียนหมายถึง น้ำพริกเผาตราพันท้ายนรสิงห์ ก็หลงอยู่บางระเง็งตั้งนานสองนาน แต่ความจริง จากเรื่องที่เพื่อนแม่สาลิกาเล่ามานี้ ก็พอจะบอกได้เหมือนกันนะคะว่า เด็กรุ่นเรียนแบบไม่ท่อง สอนจากสิ่งแวดล้อมนั่นน่ะ รู้จักน้ำพริกซึ่งยังพอมี ในสิ่งแวดล้อมมากกว่าวีรบุรุษในประวัติศาสตร์เสียอีกค่ะ ไม่รู้ว่าจะน่าดีใจหรือเปล่านะคะ
วันนี้แม่สาลิกาขอจบเรื่องน้ำพริกลงตรงนี้ก่อนนะคะ เพราะว่าถ้าให้เล่าให้ครบทุกเรื่อง ก็คงเขียนจบตอนแก่หง่อม เป็นสนมนางนั้นไปด้วยเหมือนกันแหละค่ะ วันหลังเราค่อยมาว่ากันด้วย น้ำพริกกันใหม่นะคะ ทั้งถ้วยเก่า ถ้วยใหม่ ถ้วยไหนๆ เราก็จะไม่เว้นกันล่ะค่ะ

กลับไปหน้ารู้ไว้ใช่ว่า สาระน่ารู้

 

 

 

เรื่องดีๆ ที่อยากให้อ่านด้วย


:: น้ำพริก อาหารไทยพื้นบ้าน ประเภทและประวัติความเป็นมา
 

เมนูอาหารไทยแนะนำ

:: น้ำพริกตาแดง

:: หลนปูเค็ม-ผักสด
 


Copyright © 2013 Thaifood DB dot com. All rights reserved.
For more information please contact webcookie