ผักไทย ผลไม้ไทย กับความหมายที่ซ่อนอยู่ในบทเพลง
ศิลปวัฒนธรรมคือการผสมผสาน การกลมกลืน และสะท้อนกัน ระหว่างสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติ และสิ่งที่เกิดขึ้นตามภูมิปัญญา
ความคิด และจินตนาการของมนุษย์ เช่น ศิลปกรรมและวรรณกรรมทุกแขนง จั่วหัวมาเหมือนวันนี้แม่สาลิกา จะวิชาการจ๋านะคะ แต่ความจริงไม่ใช่หรอกค่ะ กำลังจะพาคุณๆ
ไปร้องรำทำเพลงกับผักไทย ผลไม้ไทย ที่มีความหมายซุกซ่อน อยู่ในบทเพลงต่างหากละคะ
อาหารกายก็พูดกันไปหลายครั้งแล้ว คราวนี้มาลองชิมอาหารใจกันดูบ้าง
ลองกลับไปเป็นเด็กกันอีกสักครั้งดีกว่าค่ะ ลองนึกถึงเสียงคุณครูสมัยประถมบอกว่า นักเรียน เรามาร้องเพลงกันนะคะ
1-2-3 แล้วก็ จ้ำจี้ผลไม้
แตงไทย แตงกวา ขนุน น้อยหน่า พุทรา มังคุด ละมุด ลำไย มะเฟือง
มะไฟ มะกรูด มะนาว มะพร้าว ส้มโอ ฟักแฟงแตงโม ไชโยโห่ฮิ๊ววว นักเรียนท้ายห้องก็จะส่งเสียงก้อง ตามเฉพาะท่อนสุดท้าย แม้จะเป็นกลวิธีในการเรียนการสอนที่เยี่ยมมาก
แต่จนแล้วจนรอด ก็จำชื่อผลไม้ไทยได้ไม่ครบมาจนวันนี้ค่ะ จำได้ก็เฉพาะลูกไชโยกับลูกโห่ฮิ๊ว เท่านั้นเองค่ะ แต่จนเดี๋ยวนี้ก็ยังไม่รู้จักเลยค่ะว่าหน้าตาเป็นอย่างไร
รสชาติอร่อยแค่ไหน อยากจะลองชิมดูเหมือนกันค่ะ เมื่อไม่กี่วันมานี้เองที่ต้องเขียนเรื่องนี้ เลยต้องโทรทางไกลไปถามคุณครูอุดมพร คุณแม่เพื่อนซึ่งเป็นครูสอนชั้นประถมในต่างจังหวัด ให้ช่วยร้องให้ฟัง ถึงระลึกชาติได้ค่ะ
เพลงหรือบทกวีสมัยก่อนๆ มักจะอุปลักษณ์พืชผักในธรรมชาติใช้แทนคนรัก ที่ต้องการจะกล่าวถึง เช่น แม่ดอกเอ๋ย
แม่ดอกจำปีของพี่
อะไรเช่นนี้นะคะ แต่ไม่น่าเชื่อว่าไม่นานมานี้ ก็มีนักร้องวัยรุ่นคู่หนึ่งดีดกีตาร์อย่างเมามัน และตะโกนใส่ไมค์ว่า โอ้แม่ตำลึง คิดถึงจริงๆ
ไม่ได้อิงนิยาย รักเธอจริงๆ จากใจ รักมากมาย ด้วยใจห่วงหวง เขากล่าวถึงผักตำลึงซึ่งเป็นผักพื้นบ้านมาก
แต่ทำได้ทันสมัยมากค่ะ วัยรุ่นร้องกันติดปาก ได้ยินเปิดในผับ แข่งกับเสียงปืนกันสนั่นหวั่นไหวบ่อยไปเลยล่ะค่ะ
ส่วนที่เก่าขึ้นไปหน่อยก็มี แม่พริกขี้นู๊ แม่พริกขี้หนู ขอตามไปดูอยากจะรู้ว่าร้อนยังไง ของพี่เบิร์ดนะคะ แล้วก็มี อยากลองเป็นสับประรดดูสักที
เผื่อบางทีอาจจะดีกว่าใครๆ ของพี่โต๊ะกับพี่ป้อมค่ะ คงประชดประเทียดสังคมอยู่สักหน่อยกับสำนวนที่ว่า ช่างไม่เป็นสับประรดเอาเสียเลย ความจริงคำว่า สับประรด นี้มาจากคำว่า สรรพรส ซึ่งหมายถึง รสต่างๆ นะคะ ออกเสียงไปมาก็เลยเพี้ยนไปเป็น สับประรด ค่ะ
ยังมีเพลงกัดสังคมเบาๆ ของพี่โต๊ะและพี่ป้อมอีกนั่นแหละค่ะ กับ ผักเอ๋ย ผักชีโรยหน้า ตามมาติดๆ ด้วย ฟักทองของเราหายไป นะคะ ส่วนที่เก่าแก่จนหาคนร้องไม่ได้ ก็คงเป็นเพลงพื้นบ้านประเภท แม่ฝรั่งข้างรั้ว
แม่จะสุกคาขั้วคอยใคร
แต่ แหม
บทโต้ตอบของแม่ฝรั่งข้างรั้วที่ว่า ฉันจะแก่คาต้น
ให้คนน้ำลายไหล และถึงจะแก่ขึ้นคาน ก็ไม่หนักกบาลหัวใคร ก็ร้ายเหลือเกินค่ะ แม่สาลิกาได้ยินครั้งแรก ก็สะดุ้งไปหลายตลบเลยทีเดียวค่ะ
เขยิบจากการครัวเข้าไปยั่วการเมืองกันสักหน่อยดีกว่านะคะ
สงสัยไหมว่า ทำไมคุณลูกนา เธอไม่ยอมซ้อมร้องเพลงอื่นออกงานบ้างเลย
เห็นเธอถือไมค์ ไฟส่องหน้าเมื่อไหร่ เป็นได้ยิน สาวสวนแตงแห่งเมืองสุพรรณ
ชื่อเสียงน้องมาลือลั่นดังโจษจันไปทั้งทั่วกรุงเพราะจนเดี๋ยวนี้ก็ยังดูไม่ออกว่า หากเธอจะเป็นสาวสวนแตง ไม่รู้จะเป็นแตงอะไร แตงโม แตงไทย แตงกวา หรือว่าแตงร้าน แต่ที่แน่ๆ คงเป็นแตงร่มใบในร่มเงา ชาติไทย ไปอีกนานค่ะ
ในสมัยที่ยังเป็นนิสิตอยู่นั้น
ครั้งหนึ่งแม่สาลิกาก็ไปออกค่าย แนะแนวการศึกษาที่ต่างจังหวัดกับเพื่อนๆ เราก็ได้นำเอาเพลงร้องเล่นเวลาแนะนำตัว ไปประกอบการสันทนาการด้วย เพลงนั้นจะร้องว่า ต้นมะละกอ
ใบมะละกอ ฉันชื่อ
(ชัช)
ชอบ
(กัด)...มะละกอ อย่างนี้เป็นต้น แล้วก็จะต้องร้องต่อเนื่องไปเรื่อยๆ
จนกระทั่ง หมดคนที่จะแนะนำตัว เมื่อตอนท้ายของกิจกรรม น้องนักเรียนคนหนึ่งมาถามแม่สาลิกาว่า พี่ๆ คนที่เรียนมหาวิทยาลัยกันแล้วนี่ เขาร้องเพลงเหมือนสมัยที่เรียนอนุบาลเลยเหรอคะ? เล่นเอาอึ้งกิมกี่กันไปได้หลายนาทีเหมือนกันค่ะ
ช่วงประเมินผลก็มีรุ่นพี่ถามว่า ทำไมไม่เห็นแม่สาลิกาใช้เพลงประกอบกิจกรรม ที่เตรียมมาอีกเลยล่ะ เลยบอกไปว่า โดนเด็กหาว่าพาร้องเพลงปัญญาอ่อน พี่เขาเลยถามว่า ทำไมไม่ร้องเพลงอื่นล่ะ ไม่มีอีกแล้วเหรอ ก็เลยบอกว่ามันจะไปมีเพลงอะไรเหลือละพี่ มีแต่เพลง สับประรด องุ่น กล้วย ส้ม นั่นแหละค่ะ
แต่มันก็ร้องว่า สับประรดๆๆ องุ่นๆๆ กล้วยๆๆ ส้มๆๆ สับประรด องุ่น กล้วย ส้ม เท่านี้เองค่ะ เดี๋ยวน้องๆ เกิดถามว่าสาระของเพลงอยู่ที่ไหน จะให้แม่สาลิกาตอบไปว่าอยู่ที่ชื่อผลไม้ที่เรียก สับประรด องุ่น กล้วย หรือส้มดีล่ะจ๊ะ
พี่จ๋า
กลับไปหน้ารู้ไว้ใช่ว่า สาระน่ารู้
|